นวัตกรรม “หมึกพิมพ์ลายนูน” ช่วยคนตาบอด ครั้งแรกของโลก

01 สิงหาคม 2560 | 14:56 น.

updated: 21 เม.ย 2559 เวลา 21:25:00 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย จับมือ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงประกาศความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมหมึกปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมการพิมพ์เพื่อช่วยเหลือคนตาบอดครั้งแรกของโลกภายใต้ชื่อ “หมึกพิมพ์ลายนูน” หรือ “ทัชเบิ้ลอิงค์” (Touchable Ink) โดยขณะนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังถือเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา และนำร่องทดสอบให้บริการการพิมพ์แก่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือและการปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจาก บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

นางสาวปรัตถจริยา ชลายนเดชะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการสื่อสารชั้นนำของโลก ฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ของ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ได้ทำงานร่วมกับฝ่ายวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อศึกษาความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในหลากหลายกลุ่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการคิดค้นแนวคิดใหม่ๆ ในการสื่อสาร ตลอดจนเป็นข้อมูลเพื่อเป็น Market Insight ให้แก่ลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม โครงการ Touchable Ink เกิดจากการลงไปศึกษาพูดคุยและตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคกลุ่มเล็กๆ ในสังคม ซึ่งก็คือคนตาบอด ว่าพวกเขามีความต้องการไม่ได้แตกต่างจากคนปกติ คือ ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนผู้มีสายตาปกติ และมีความภาคภูมิใจในการที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ตลอดจนพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุด”

“ทั้งนี้ นวัตกรรม ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ หรือ ‘ทัชเบิ้ลอิงค์’ (Touchable Ink) เป็นสิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์ เนื่องจากในการเรียนรู้และสัมผัสโลกภายนอกของคนตาบอดนั้น ส่วนหนึ่งต้องอาศัยอักษรเบรลล์ (Braille Code) แต่เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ที่มีอยู่ในตลาดนั้นมีราคาแพงกว่าเครื่องพิมพ์ธรรมดาหลายเท่าตัว จึงไม่ใช่คนตาบอดทุกคนที่มีทุนทรัพย์หาซื้อได้ ดังนั้น ฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ของเราจึงได้ใช้เวลาศึกษาในรายละเอียด และปรึกษากับดร.นพรัตน์ พฤกษ์ทวีศักดิ์ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือและการปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจาก บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว จนพบว่ามีความเป็นไปได้ในการผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทดลองเพื่อทดสอบให้บริการแก่คนตาบอดได้เป็นผลสำเร็จ”

นายสาธิต จันทร์ทวีวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสันประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “นวัตกรรม ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ หรือ ‘ทัชเบิ้ลอิงค์’ (Touchable Ink) คือการพัฒนาหมึกพิมพ์ธรรมดาให้มีคุณสมบัติพองตัวได้เมื่อถูกความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสม และมีความนูนเพียงพอต่อการสัมผัสและรู้สึกได้ถึงรายละเอียดแม้มองไม่เห็น ดังนั้น นวัตกรรม ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ จึงสามารถนำมาใช้พิมพ์อักษรเบรลล์บนกระดาษธรรมดาและทดแทนการพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ที่มีราคาสูงได้ และที่พิเศษยิ่งไปกว่านั้น หมึกดังกล่าว ยังสามารถพิมพ์เป็นอักษรพิมพ์ปกติ หรือลวดลายอื่นๆ ให้คนตาบอดได้สัมผัสจริงๆ ได้ ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูสู่โลกใหม่และเป็นการพลิกโฉมการเข้าถึงความรู้ของคนตาบอด โดยเฉพาะผู้ที่ตาบอดแต่กำเนิดและไม่เคยสัมผัสหลายต่อหลายสิ่งที่คนสายตาปกติเห็นเป็นเรื่องธรรมดา อาทิ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ลักษณะตัวโน้ต หรือแม้แต่ภาพวาดศิลปะ ดังนั้น ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ จะเป็นเหมือนกุญแจที่จะเปิดพาพวกเขาไปยังโลกใบใหม่ที่ช่วยให้พวกเขารับรู้สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่ออำนวยประโยชน์แก่การใช้ชีวิตประจำวัน หรือเพื่อการเข้าถึงการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ ดนตรี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ ฯลฯ”

“โดยในขณะนี้ บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทยและภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำนวัตกรรม ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ ดังกล่าวมานำร่องทดสอบให้บริการการพิมพ์แก่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเป็นที่แรก โดยได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือและการปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด โดยในขั้นต้นจะดำเนินการพิมพ์ที่สมาคมฯ ภายใต้การควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญ

ดร.นพรัตน์ พฤกษ์ทวีศักดิ์ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ทัชเบิ้ลอิงค์’ ถือเป็นนวัตกรรมที่น่าภาคภูมิใจมาก เนื่องจากเกิดการคิดค้นสร้างสรรค์ของคนไทย ที่หากนำไปพัฒนาต่อจะสามารถนำไปช่วยเหลือคนตาบอดได้ทั่วโลก เนื่องจากพวกเขาจะสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ธรรมดาที่มีราคาเริ่มต้นไม่ถึง 2,000 บาท ซึ่งถูกกว่าเครื่องพิมพ์เบรลล์ซึ่งมีราคาเริ่มต้นสูงถึงหลักแสน โดยขณะนี้ ทางภาควิชาฯ กำลังร่วมกับบริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย พิจารณาดำเนินการจดสิทธิบัตร”

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ตำแหน่ง นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มีความยินดีและประทับใจ เป็นอย่างมากที่ บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย, ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนคนตาบอด โดยทางสมาคมฯ มีความเชื่อมั่นว่า นวัตกรรม ‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ หรือ ‘ทัชเบิ้ลอิงค์’ (Touchable Ink) จะช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายขึ้น และเข้าถึงการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อสามารถพัฒนาตนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคมได้เท่าเทียมคนปกติได้ในอนาคต”

back