IPT Symposium 2016

21 มีนาคม 2560 | 00:00 น.

ภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนา IPT Symposium 2016 เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 8:30-16:15 น. ณ ชั้น 6 อาคารพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 และเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศแถบตะวันออกกลาง ได้แก่ ซีเรียและตุรกี โดยมี คุณไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ นายกสมาคมการค้าวัสดุและอุปกรณ์การพิมพ์ไทย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และได้พูดถึงธุรกิจการพิมพ์แบบองค์รวม การมีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำธุรกิจ รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังสัมมนาเกี่ยวกับการส่งออกในประเทศตะวันออกกลางด้วย
การสัมมนาในช่วงเช้า เริ่มด้วยหัวข้อแรก “ไขรหัสการตลาดอัจฉริยะ Thailand 4.0” โดย ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาด้านแบรนด์ที่มีชื่อเสียง และเป็นผู้เขียนหนังสือ “อัจฉริยะการตลาด” ซึ่งเป็นหนังสือที่ขายดีมาก ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือขายดีที่สุดของศูนย์หนังสือจุฬาฯ เลยทีเดียว ท่านอาจารย์ได้บรรยายพร้อมสอดแทรกแนวคิดเรื่องหลักการตลาดอย่างง่ายๆ อย่างเรื่อง Outside In กล่าวคือ คนเราจะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคม การที่เราจะเป็น Thailand 4.0 ได้ จะต้องใช้หลักการที่เป็นโมเดล คือ “Smart” ได้แก่ 1. Smart people 2. Smart City 3. Smart Industry ทั้ง 3 Smart นี้ถือเป็นพื้นฐานในการที่จะพัฒนาประเทศให้ประสบความสำเร็จได้ และสุดท้าย คือการใช้ชีวิตในปัจจุบันถึงอนาคต ซึ่งจะเป็นไปตามกระแสโลก ตามเทรนด์ทั้ง 6 ได้แก่ 1. Intelligent 2. Integration 3. Isolation 4.Irrationality 5.Integrity 6. Inner Mind (สำคัญมาก) ดังนั้น การจะอยู่รอดได้ในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับเทรนด์ทั้ง 6 ดังกล่าว

หัวข้อที่สอง “ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการพิมพ์และการนำไปใช้งาน” โดย รศ.ดร อรัญ หาญสืบสาย สรุปได้ว่า “ในปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เราจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมในปัจจุบัน และเข้าใจในหลักพื้นฐานสำคัญ คือ “คน” ซึ่งคนก็แบ่งเป็นหลายประเภท เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าคนแต่ละประเภทมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร และมีวิธีการบริหารคนเหล่านี้ให้มีคุณภาพได้อย่างไรบ้าง โดยการใช้หลักการ E= (4R+7C) คือ E= Ehtics, 4R = Read, Write, Arithmatics, Reason 7C = Creative problem solving skills, Critical thinking skills, Collaborative skills, Communicatives skills, Computing skills, Career and life skills และ Cross-Cultural skills เพื่อปูพื้นฐานในการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสุดท้ายเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะอยู่ให้รอดได้ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. Competitiveness 2. Innovative Growth 3. Green Growth 4. New Printing Business Category ซึ่งในที่สุดแล้ว คนที่จะอยู่รอดได้ จะต้องเป็นคนที่มีคุณธรรมและจริยธรรมอยู่ในจิตใจและพร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบ สังคมก็จะอยู่กันได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ”
หัวข้อที่สาม “Status and Trends of Printing technology and Market in Middle East Countries and Syria โดย Dr.Mounib Khaddour ได้มาแชร์ประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมการพิมพ์ในซีเรีย สรุปได้ว่า “อุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศแถบตะวันออกกลาง ยังไม่เฟื่องฟูนัก เป็นการทำงานไป เรียนรู้ไป มีปัญหาก็แก้ไขกันไป ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ก็มีน้อยมาก โรงพิมพ์ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจแบบครอบครัว ซึ่งมีประมาณ 5% มีคนงานประมาณ 5-10 คนต่อโรง รวมทั้งหมดประมาณ 300 คน เครื่องจักรส่วนใหญ่เป็นระบบออฟเซ็ท ซึ่งต้องนำเข้าทั้งหมดรวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็นำเข้าด้วย โรงพิมพ์เล็กต้องหาเงินมาลงทุนทำธุรกิจเอง ส่วนใหญ่เป็นโรงพิมพ์ของรัฐบาล สิ่งพิมพ์ที่ทำรายได้มากที่สุด คือ สิ่งพิมพ์บรรรจุภัณฑ์และสื่อโฆษณา และการ์ดต่างๆ ส่งออกไปขายทั่วโลก และตอนนี้สิ่งที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ในซีเรียต้องการมากที่สุด คือ เครื่องจักรทางการพิมพ์และกระดาษ”

หัวข้อสุดท้าย “Printing Technology Trends and Its Research Development in Turkey and Neighboring Countries” โดย Assoc. Prof.Dr.Arif Ozcan สรุปว่า “อุตสาหกรรมการพิมพ์ของตุรกี ก็ไม่ได้แตกต่างจากบ้านเรามากนัก คนตุรกีที่ไม่มีความรู้ทางการพิมพ์ก็สามารถทำโรงพิมพ์ได้ หากต้องการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาวิชาการพิมพ์ก็สามารถติดต่อกับมหาลัยมามาร่าได้
ส่วนแนวโน้มการเติบโตของสิ่งพิมพ์อาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนในงานดรูปา 2020 ซึ่งคาดว่าธุรกิจ Printed Electronic ฉลาก QR code และอิงค์เจ็ท จะเติบโตต่อไปในอนาคต”

การสัมมนาครั้งนี้ ได้ทั้งความสนุกสนาน มีความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางของอุตสาหกรรมทั่วไปและการพิมพ์ 4.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้านี้ มากขึ้น และยังได้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศซีเรียและตุรกี ซึ่งถ้าเป็นภาวะที่บ้านเมืองสงบดีไม่มีสงคราม คงจะมีนักลงทุนบ้านเราอยากไปเปิดโรงพิมพ์ใน 2 ประเทศนี้บ้างแน่ๆ เลยค่ะ ก็ขอขอบคุณ คณะเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับการจัดงานสัมมนาดีๆ ครั้งนี้นะคะ
back