คุณสมเพ็ชร เจียรมณีทวีสิน

ตำแหน่ง:ผู้ก่อตั้ง
บริษัท: บริษัท I.Q. LAB จำกัด

ในบรรดาศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ ที่จบการศึกษาจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีศิษย์เก่าท่านหนึ่งที่สามารถใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมา พัฒนาอาชีพถ่ายภาพที่ตนเองชื่นชอบให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องถูกต้องตามหลักวิชา จากยุคสมัยของการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม ล้างฟิล์มพร้อมอัดภาพด้วยระบบอนาล็อก สู่การถ่ายภาพพร้อมพิมพ์ลงบนวัสดุหลากหลายชนิดด้วยระบบดิจิตอล อิงค์เจ็ท ไม่ต้องมีฟิล์ม ไม่ต้องล้างฟิล์มกันอีกต่อไป แถมยังมุ่นมั่นสรรหาเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ไฮเทค มาใช้เป็นเครื่องแรกๆ ของประเทศไทย โดยไม่จำกัดยี่ห้อ ขอให้เป็นเครื่องที่เหมาะกับการผลิตงานพิมพ์คุณภาพเลิศ ตาม mission ที่ตนเองตั้งเป้าหมายไว้ เป็นสำคัญ ศิษย์เก่าคนนี้ ถ้าเอ่ยชื่อแล้ว คนในวงการย่อมรู้จักดี เพราะเป็นคนแรกที่ริเริ่มประกอบอาชีพรับ “แต่งภาพ” ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ภาพพิมพ์ที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมดังกล่าวแล้ว

“ในวงการพิมพ์” ฉบับนี้ ขอเชิญคุณผู้อ่าน มาทำความรู้จักกับ คุณสมเพ็ชร เจียรมณีทวีสิน ผู้ก่อตั้งบริษัท I.Q. LAB จำกัด ศิษย์เก่า จุฬาฯ คนที่เรากล่าวเกริ่นไว้ข้างต้น ในโอกาสที่ คุณสมเพ็ชร ได้ปรับปรุงและขยับขยายธุรกิจให้ทันยุค ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยการ ติดตั้งเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทรุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัท ฟูจิฟิล์ม “Acuity LED 3200R” หน้ากว้าง 3.2 เมตร ณ สำนักงาน ถนนเอกมัย ที่ตกแต่งใหม่ทาสีขาวคาดดำ สวยสะอาดตา ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นสถานที่ที่รองรับการติดตั้งเครื่องพิมพ์ไซส์ใหญ่นี้โดยเฉพาะ

คุณสมเพ็ชรได้เล่าถึงการเข้ารับการศึกษาในภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ ซึ่งเป็นภาควิชาใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมัยนั้น ให้ทีมงาน “ในวงการพิมพ์” และ ทีมงาน “ฟูจิฟิล์ม” ซึ่งเป็นศิษย์เก่ารุ่นน้อง คณะเดียวกันกับคุณสมเพ็ชรอีก 3 คนที่ติดตามมารับฟังประสบการณ์ชีวิต แนวคิดและการทำงานของคุณสมเพ็ชรในครั้งนี้ด้วย

“ที่เลือกเรียนในภาควิชานี้ เพราะผมชอบถ่ายรูปมาก และก็ไม่ผิดหวัง เพราะที่ภาควิชาฯจะสอนทุกอย่างครอบคลุมทั้งเรื่องของกระบวนการการถ่ายภาพและกระบวนการทางการพิมพ์ ซึ่งทั้งสองสาขาวิชานี้ต้องเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกันหมด เช่นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการสี เป็นต้น จะต่างกันบ้างก็ไม่กี่วิชา แม้ผมจะมุ่งเน้นที่การถ่ายภาพแต่ก็ต้องเรียนวิชาการพิมพ์ด้วย แต่ตอนนั้นยังไม่มีการพิมพ์ระบบดิจิตอลนะครับ พอเรียนจบ ก็เข้าทำงานที่บริษัท “ฟูจิฟิล์ม” ทำอยู่ได้ 7 ปี ก็ลาออกมาดูแลบริษัท I.Q.LAB จำกัด ที่ผมเป็นผู้ก่อตั้ง ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2529 โดยเปิดให้บริการรับล้างฟิล์มสไลด์ โดยเฉพาะ”

“I.Q.LAB ย่อมาจาก Image Quality หมายถึงภาพที่มีคุณภาพ นี่เป็น mission ของเราเลยว่า งานที่เราออกไปต้องมีคุณภาพ สมัยก่อน การควบคุมคุณภาพ มีปัจจัยเยอะมาก มีน้ำยาต่างๆ หลายชนิด ต้องใช้ความรู้ทั้งเคมี ฟิสิกส์ ต้องใช้หมดเลย ตั้งแต่งานล้างฟิล์ม จนวันนี้แม้ไม่มีฟิล์มให้ล้างแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังคงเน้นเรื่องของคุณภาพในทุกขั้นตอน โดยการสรรหาเครื่องไม้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยี มีกระบวนการที่จะทำให้งานของเรามีคุณภาพโดดเด่นที่สุด”

“เครื่องที่ผมลงเป็นเครื่องแรกของผมและของประเทศไทยด้วย คือ เครื่องสแกนเน่อร์ สำหรับแต่งรูปสมบูรณ์แบบ เป็นเครื่องรีทัชรูประบบดิจิตอลรุ่นแรก ยี่ห้อ Lamda ตอนนั้นดูแล้วมันน่าทำมากเพราะราคาค่ารีทัชรูปมันน่าสนใจ ถ้าบริษัทโฆษณาส่งรูปไปรีทัชที่เมืองนอก ราคาจะแพงมาก แต่พอเราทำเข้าจริงๆ มันก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ประกอบกับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ (ต้มยำกุ้ง) ด้วย ผมก็เลยต้องขาดทุนไปตามระเบียบ แต่ผมก็ได้ความรู้เกี่ยวกับระบบดิจิตอลกลับมาด้วย พอฟื้นตัวได้ ใช้หนี้หมด ผมก็ลงเครื่องใหม่ คราวนี้ลงเครื่องพร้อมกันทีเดียว 2 ตัว คือ Lamda ตัวที่ 2 กับ Frontier เพราะตอนนั้น ผมมองว่า ทั้งสองเครื่องมีเทคโนโลยีคล้ายๆ กัน เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ภาพที่ได้ มีคุณภาพสูงระดับ Photo quality เลยนะครับ”

ตลอดเวลาที่ผ่านมานานถึง 31 ปี คุณสมเพ็ชรมุ่งมั่นพัฒนาให้ธุรกิจของ I.Q.Lab สามารถก้าวทันโลก ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยการสรรหาเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยและเหมาะกับงานที่รับทำมากที่สุดดังกล่าวแล้ว

“ผมว่า ปกติแล้ว ธุรกิจต่างๆ จะมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด มันมีหลักการของมันอยู่แล้ว ก็เหมือนกับ S curve คือ ผู้ประกอบการจะต้องรู้ว่า ตอนนี้ เราอยู่ตรงไหนแล้ว ถ้ามันเริ่มนิ่ง เราก็จะต้องมองหาอะไรใหม่ๆ มาทำ เพราะถ้าเราไม่ทำ เราก็จะต้องนิ่งแน่ไปด้วย” และด้วยเหตุที่คุณสมเพ็ชรไม่อยากจะอยู่แบบแน่นิ่งนี่เอง จึงทำให้มีการ ติดตั้งเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทรุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัท ฟูจิฟิล์ม “Acuity LED 3200R” หน้ากว้าง 3.2 เมตร ดังกล่าวแล้วข้างต้น



“ที่ผมเลือก “Acuity LED 3200R” เพราะมันมีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ผมสนใจ เช่น ตัวควบคุมความตึงตัวของงานพิมพ์ ซึ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะการพิมพ์ผ้า ต้องมีตัวปรับความตึงไม่ให้ผ้าย่น มีโหมดฟุ้ง (FAdvance Pass System) ที่นอกจากจะช่วยให้ภาพพิมพ์ ไม่เกิดเส้นแล้ว ยังมีคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีระบบ LED UV ที่ช่วยให้งานพิมพ์แห้งตัวเร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และเนื่องจาก LED ไม่มีความร้อน จึงสามารถพิมพ์ลงวัสดุได้อีกหลากหลายชนิดด้วย ที่สำคัญ คือเขารับคืนเครื่องอิงค์เจ็ทตัวเก่า (Acuity LED 1600) ของเราด้วย ทำให้เรามีพื้นที่กว้างขวางพอที่จะรองรับเครื่องตัวใหม่ได้อย่างพอดิบพอดี ส่วนตัวผมเองก็มีความมั่นใจในบริการหลังการขายของ “ฟูจิฟิล์ม” อยู่แล้ว ถ้าสั่งเจ้าอื่นก็ไม่รู้ว่าจะมาบริการให้เราหรือเปล่า การมีบริษัทอยู่ในเมืองไทยคอยให้ความช่วยเหลือเรา ก็น่าจะสะดวกดีกว่านะครับ”

แหม ...ตอบได้ดี สมกับที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของ “ฟูจิฟิล์ม” เลยนะคะ!!

back