คุณสมบูรณ์ วรรณศิริกุล

ตำแหน่ง:Executive Director
บริษัท: Mayflower (Thailand) Co.Ltd.

“สิ่งที่เราผลิต ไม่ใช่เป็นแค่ “สมุดนักเรียน” แต่เป็น “เครื่องมือ” เพื่อการเรียนรู้ฝึกฝนความคิด”

สมบูรณ์ วรรณศิริกุล, Executive Director, Mayflower (Thailand) Co.Ltd.

“เมย์ฟลาวเวอร์” หนึ่งในโรงพิมพ์ที่แม้จะเก่าแก่ แต่ก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนขึ้นชั้นเป็นโรงพิมพ์คุณภาพขนาดใหญ่ระดับ Top Ten ของประเทศไทยในปัจจุบัน และที่สำคัญ คือเป็นโรงพิมพ์ที่มีแนวคิดแนวทางการประกอบธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร น่าสนใจใช่ไหมคะ..... ข่าวสาร “ในวงการพิมพ์” ฉบับนี้ จึงขอนำเสนอประวัติความเป็นมาและแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ทำให้ “เมย์ฟลาวเวอร์” สามารถสืบสานกิจการต่อเนื่องกันมาได้อย่างยาวนานกว่า 70 ปี ผ่านการบอกเล่าของ คุณสมบูรณ์ วรรณศิริกุล, Executive Director, ผู้อนุญาตให้ทีมงานข่าวสาร “ในวงการพิมพ์” ได้เข้ามาทำข่าวการติดตั้งใช้งานเครี่องไดคัต ตัด ฉลุ ระบบเลเซอร์ รุ่น LC 340S ของบริษัท Hans-Gronhi Graphic Technology ประเทศจีน เป็นเครื่องแรกในประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2560 ณ สำนักงาน บริษัท เมย์ฟลาวเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ถนนสุขสวัสดิ์ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร

 


 

คุณสมบูรณ์ดูมีความสุขและสนุกกับการที่ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของบริษัทให้ทีมงาน “ในวงการพิมพ์” (รวมถึงคุณพรรณธิการ์, ลูกสาว และคุณสุภิชญา, หลานสาว ซึ่งทั้งสองกำลังจะรับช่วงกิจการเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 3 รวมทั้งยังมีช่างภาพสตูดิโอประจำการอยู่ด้วยอีก 1 ท่าน) ได้รับรู้ รับฟังกันพร้อมหน้าว่า เมื่อประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา คุณพ่อของคุณสมบูรณ์ เป็นผู้ก่อตั้งโรงทำสมุดเล็กๆ แบบห้องแถวคูหาเดียว ชื่อโรงทำสมุด “อึ้งเซ่งเฮง” ทำสมุดขายอย่างเดียว โดยจ้างโรงพิมพ์พิมพ์เนื้อในและปก แล้วเอากลับมาเข้าเล่ม มาประกอบรูปเล่มเอง ก็ทำมาอย่างนี้เกือบ 30 ปี เลยเก่งเรื่องงานหลังพิมพ์ เมื่อลูกชายทั้ง 3 คนเรียนจบ ก็ได้มาช่วยกันทำงาน ช่วยกันพัฒนาเรื่อยมา จนในที่สุดก็พัฒนามาเป็นโรงพิมพ์เต็มรูปแบบ “เพราะโรงพิมพ์ที่รับพิมพ์งานให้เรา ไม่สามารถพิมพ์งานได้ทันตามกำหนดเวลาที่เราต้องการครับ”

ส่วนที่ต้องเปลี่ยนชื่อ จาก “อึ้งเซ่งเฮง” เป็น “เมย์ฟลาวเวอร์” คุณสมบูรณ์ก็ได้อธิบายว่า สมัยก่อนนั้น ชื่อจีนจำยาก ออกเสียงก็ยาก จึงควรจะเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อความสะดวกในการติดต่อรับงาน พอดีพี่ชายเรียนจบกลับมาจากอเมริกา เลยเสนอให้ตั้งชื่อ “เมย์ฟลาวเวอร์” ซึ่งเป็นชื่อเรือลำแรกที่ขนย้ายผู้อพยพชาวอังกฤษไปตั้งถิ่นฐานที่อเมริกา “พอเล่าเรื่องนี้ให้ใครๆ ฟัง เขาจะจำชื่อได้แม่น ก็เลยได้ใช้ชื่อนี้มาเป็นปีที่ 40 แล้วนะครับ

ส่วนตัวผมเป็นลูกชายคนที่ 3 ที่ได้มาช่วยงานคุณพ่อตั้งแต่อายุ 20 ทั้งที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการพิมพ์มาก่อนเลย แต่ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ก็ได้ความรู้จากการอ่านหนังสือเยอะมาก ประกอบกับมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานพิมพ์มาค่อนข้างนาน ก็เลยได้บริหารงานโรงพิมพ์มาตลอด ปีนี้ก็เป็นปีที่ 40 เหมือนกันครับ

 


 

ก็อย่างที่ผมพูดไปแล้วนะครับว่า แม้งานหลักของเราคือการผลิต สมุด แต่ “สมุด” ในนิยามของเรา ไม่ใช่เป็นแค่ “สมุดนักเรียน” แต่มันเป็น “เครื่องมือ” ในการเรียนรู้ฝึกฝนทางความคิด เพราะฉะนั้น สมุดที่เราผลิตทุกเล่ม ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน นอกจากเราจะจัดพิมพ์อย่างสวยงาม ชวนให้ซื้อหามาใช้ ในราคาที่ไม่แพงแล้ว เรายังมีการสอดแทรกความรู้ในเรื่องต่างๆ ไว้ในเล่มด้วย โดยเฉพาะเรื่องของสภาวะโลกร้อนที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการตัดต้นไม้เพื่อนำมาใช้ในการผลิตกระดาษ เป็นเรื่องที่เราห่วงใยมาก เพราะเราก็เป็นผู้ใช้กระดาษรายใหญ่รายหนึ่งเหมือนกัน เราจึงทำธุรกิจไปด้วย ห่วงใยสิ่งแวดล้อมไปด้วย ก็พยายามทำทุกอย่างให้เด็กๆ ได้ซึมซับเรื่องเหล่านี้ เช่น ทำไมเราจึงเลือกใช้กระดาษรีไซเคิลในการพิมพ์สมุดของเราทุกเล่ม ทั้งที่กระดาษรีไซเคิลมีราคาสูงกว่ากระดาษที่ผลิตจากเยื่อบริสุทธิ์ หรือ การใช้กระดาษรีไซเคิลจะช่วยลดการตัดต้นไม้ได้กี่ต้น การใช้หมึกจากน้ำมันพืชดีอย่างไร ฯลฯ โดยเราจะใช้ภาษาง่ายๆ ที่ทุกคนเข้าใจได้ พิมพ์แทรกไว้ในสมุดแต่ละเล่ม เพราะเราคิดว่า ถ้าทุกคนมุ่งแต่จะหาเงิน ไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อม แล้วอนาคตเราจะอยู่กันอย่างไร นี่คือแนวคิดการทำธุรกิจของเรานะครับ คือเราไม่ได้คิดแต่จะขายเอาเงินเข้ากระเป๋าอย่างเดียว แต่เราจะต้องรู้จักรับผิดชอบต่อสังคม คิดหาทางคืนกลับให้สังคมด้วย” คุณสมบูรณ์กล่าวอย่างมุ่งมั่น

“ในส่วนของงานพิมพ์อื่นๆ ก็เช่นกัน มันก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของลูกค้าที่จะรับข้อเสนอของเราไหม ทุกวันนี้ ทุกคนต่างรู้ดีว่า เกิดอะไรขึ้นกับวงการธุรกิจของเรา ถ้าเราอยู่นิ่งๆ ไม่ปรับตัว ไม่สามารถสร้างแบรนด์ของเราเอง มัวแต่รองานประมูล วันไหนโชคร้ายไม่มีงานให้ประมูลก็ตายกันพอดี เราจึงต้องปรับตัว หาวิธีการทำงานที่แตกต่าง สร้างความแปลกใหม่ให้ลูกค้ายอมรับได้ ซึ่งลูกค้างานพิมพ์ของเรา ก็มีไม่มาก แต่เป็นลูกค้าระดับ core customers ที่เราจะต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดีที่สุด”

และนี่ก็คือที่มาของการสั่งติดตั้งใช้งานเครื่องไดคัต ตัด ฉลุระบบเลเซอร์ที่ “ในวงการพิมพ์” ได้กล่าวถึงข้างต้นนั่นเอง

คุณสมบูรณ์ ได้พูดถึงการสั่งติดตั้งเครื่องเลเซอร์ ไดคัตรุ่น LC 340S ของบริษัท Hans-Gronhi ผ่านทางบริษัท ซันซิน ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในไทยว่า “ปกติ เราก็มีเครื่องปั๊มไดคัตอัตโนมัติยี่ห้ออื่นใช้งานอยู่แล้ว 4 เครื่อง แต่ไม่มีเครื่องไหนที่สามารถทำงานละเอียดในแบบที่ผมต้องการได้ พอดีคุณฉี เอาคะตะล็อกเครื่องตัวนี้มาให้ผมศึกษาดู เลยรู้ว่าบริษัท Hans-Gronhi เขามีการพัฒนาทางเทคโนโลยีร่วมกับ บริษัท ชิโนฮารา ของญี่ปุ่น ซึ่งผมมีความมั่นใจเรื่องซอร์ฟแวร์ของบริษัทนี้อยู่แล้ว เลยตกลงซื้อโดยที่ยังไม่เห็นเครื่อง ซึ่งปกติไม่ว่าจะเป็นเครื่องอะไรก็ตาม ผมจะรอให้คนอื่นซื้อนำร่องไปก่อน แต่เครื่องตัวนี้ผมเป็นฝ่ายซื้อก่อน เพราะมั่นใจคุณสมบัติของเครื่องและมั่นใจซันซิน

 


 

สมัยก่อน ผมไม่สนใจเครื่องจีนเลย ค่อนข้างกังวลกับการใช้เครื่องจีน แต่หลังจากที่ ซันซิน นำเครื่องต่างๆ เข้ามาขายโดยมีทีมงานบริการหลังการขายที่มีประสิทธิภาพดูแลใกล้ชิด ก็เลยลองสั่งเครื่องหลังพิมพ์มา ทดลองใช้ เครื่องที่หนึ่ง แล้วก็มีเครื่องที่ 2 ตามมา พอมีปัญหา คุณฉีก็ส่งช่างมาดูแล มาอยู่กับเราเป็นเดือน ทำให้เรามั่นใจยิ่งขึ้น ก็เลยมีเครื่องตัวที่ 3 ตามมาอีก ล่าสุด ก็เป็นเครื่องปั๊มไดคัตระบบเลเซอร์ที่กำลังใช้งานอยู่นี่ละครับ” คุณสมบูรณ์บอกกล่าว พร้อมชี้ชวนให้ดูการทำงานและผลงานการไดคัตที่สุดละเอียด ซึ่งทีมงาน “ในวงการพิมพ์” เอง ไม่สามารถจะอธิบายให้เห็นภาพได้ จึงขอเชิญชวนไปดูให้ประจักษ์ด้วยตาตัวเองในงาน Pack Print 2017 ที่จะมีขึ้นที่ไบเทคในเดือนกันยายนปีนี้ ที่บูธ ซันซิน ละกัน แว่วมาว่า เสร็จจากการโชว์ตัวที่ไบเทคแล้ว อาจมีความเป็นไปได้ที่เครื่องตัวที่โชว์นั้น จะถูกยกไปติดตั้งใช้งานที่ “เมย์ฟลาวเวอร์” เป็นเครื่องที่ 2 ...รอดูก็แล้วกัน

back