คุณเมธี ศรีวิริยะเลิศกุล

ตำแหน่ง:ผู้บริหาร
บริษัท: บริษัท เบสิคเกียร์ จำกัด

ข้อคิดดีๆจากเบสิค เกียร์

เมื่อหลายปีก่อน สมัยที่ผู้เขียนยังมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับชมรมการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ไทยในฐานะที่ปรึกษา  กรรมการทุกท่านรวมทั้งผู้เขียนด้วย จะได้รับไดอะรี่เป็นของขวัญปีใหม่เป็นประจำ จากคุณเมธี ศรีวิริยะเลิศกุล ผู้บริหาร บริษัท เบสิคเกียร์ จำกัด ซึ่งก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชมรมฯที่ไฟแรง ขยันขันแข็งและมีน้ำใจดีต่อเพื่อนๆเสมอ และเมื่อเร็วๆนี้ คุณเมธียังได้รับเชิญเป็นวิทยากร ในงาน “สานเสวนา เดินหน้าธุรกิจการพิมพ์” ครั้งที่ 2 เพื่อบอกเล่า แชร์ประสบการณ์ที่มีมายาวนานกว่า 20 ปี   โดยคุณเมธีได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจของตน แยกเป็นหมวดหมู่ ทำให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ซึ่งประสบการณ์ที่นำมาบอกเล่าให้ฟังกันโดยไม่ปิดบังก็มีทั้งส่วนที่ประสบความสำเร็จและส่วนที่ล้มเหลว  “ในวงการพิมพ์” ฉบับนี้ เห็นว่า แนวคิด / กลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยน ธุรกิจการพิมพ์ให้อยู่รอดได้ในยุคดิจิตอลของคุณเมธี น่าสนใจ น่าจะเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบการทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่ในแวดวงการพิมพ์เท่านั้น  ทีมงานจึงได้ขอนัดหมายไปพูดคุยกับคุณเมธี ที่สำนักงานถนนบรมราชชนนี เมื่อวันพุธที่ 10 สิงหาคม 2559 เพื่อนำเรื่องราวมาถ่ายทอดให้คุณผู้อ่านได้พินิจพิจารณา จะเห็นดีเห็นงามอย่างไร ไม่ว่ากันนะคะ

 

คุณเมธี เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจการพิมพ์อีกรายหนึ่ง ที่เข้าสู่อาชีพโรงพิมพ์โดยไม่มีความรู้ในวิชาชีพการพิมพ์มาก่อนเลย  เพราะตอนที่เรียนจบด้านรัฐศาสตร์ใหม่ๆ คุณเมธีเคยทำงานเป็นผู้จัดการแผนกบุคคลที่ กลุ่มบริษัท แอ๊ดวานซ์อะโกร (ดับเบิ้ลเอ) ผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ ในสมัยระยะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2532 คุณเมธีเล่าว่า “ผมตัดสินใจร่วมทุนทำโรงพิมพ์กับเพื่อนซึ่งเคยทำงานโรงพิมพ์ มีประสบการณ์ทางการพิมพ์มาระดับหนึ่ง เมื่อปี 2538 โดยเรามองงานสิ่งพิมพ์ในตลาดสินค้างานของพรีเมี่ยมเป็นหลัก เริ่มจากงานสมุดบันทึก งานสมุดไดอะรี ซึ่งเราเป็นผู้ผลิตเองครบวงจรทั้งหมด ตั้งแต่ออกแบบ พิมพ์ เข้าเล่ม หุ้มปกแข็ง  สมัยนั้น ไดอะรี่ยังไม่มีลูกเล่นมาก  ส่วนใหญ่จะเป็นปกแข็งหุ้มหนังเทียม มีปั้มทองตรงโลโก้ แค่นั้นก็หรูแล้ว

ตลาดของเราแบ่งเป็น 2 ส่วน  ส่วนแรกเราผลิตส่งขายเป็นซัพพลายเออร์ให้ห้างสรรพสินค้า  โดยไดอะรี่ที่วางขายในห้างจะมีหลายระดับด้วยกัน  ถ้าเป็นระดับเกรดเอ ของเราจะใช้ชื่อแบรนด์ “RACHA”  ส่วนที่ 2 เป็นงานสั่งทำระดับพรีเมี่ยม โดยใช้เนื้อในเหมือนกัน ต่างกันตรงที่มีดีไซน์ มีการออกแบบปกพิเศษ หรือมีการสอดแทรกโฆษณาในเล่ม เป็นต้น  ที่สำคัญ การทำตลาดทั้ง 2 ส่วนนี้ เราจะต้องจัดทำฐานข้อมูล ประวัติการสั่งซื้อ การผลิต การขาย ต้องเก็บข้อมูลหมด เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมาณการการผลิตในแต่ละปี เพื่อให้เหลือสินค้าค้างสต็อกน้อยที่สุด

 

ตอนที่ทำโรงพิมพ์ใหม่ๆ เราใช้การพิมพ์ระบบออฟเซต เพราะต้องพิมพ์เนื้อในจำนวนมากหน่อย สมัยนั้นการสั่งพิมพ์แต่ละครั้งต้องเป็นหลักพันขึ้นไป ทำให้เกิดการสูญเสียและไม่คล่องตัว ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป  เมื่อมีเครื่องพิมพ์ดิจิตอลเข้ามา จึงทำให้เราสนใจ เพราะมองเห็นโอกาสที่จะเอาเครื่องพิมพ์ดิจิตอลเข้ามาช่วยเสริม มาเพิ่มศักยภาพการทำงานและยังช่วยลดขั้นตอนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงตกลงซื้อเครื่องพิมพ์ดิจิตอลของแคนนอนมาใช้เป็นเครื่องแรกเมื่อ 8-9 ปีมาแล้วซึ่งก็เป็นผลดีดังที่คาดหมาย ทำให้งานไดอะรีของเราขยายตัวได้กว้างขึ้น ต่อมาเราก็ลงเครื่องพิมพ์ดิจิตอลอิงค์เจ็ทขนาดเล็ก สำหรับพิมพ์โลโก้ พิมพ์อะไรเล็กๆน้อยๆตามที่ลูกค้าต้องการบนชิ้นงานประเภทของขวัญ ของชำร่วย หรือสินค้านำเข้า  ซึ่งระบบสกรีนที่ใช้อยู่เดิมไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้  เพราะฉนั้น แทนที่เราจะขายแต่ไดอะรี่อย่างเดียว เราก็ยังสามารถขยายตลาดของขวัญของพรีเมี่ยมของเราได้โดยอาศัยข้อดีของดิจิตอล ต้องขอบคุณดิจิตอลครับ”

แม้ว่าคุณเมธีจะไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจการพิมพ์มาก่อน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่อาศัยการที่คุณเมธีเป็นคนที่ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา สนใจค้นคว้าตามหานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงธุรกิจโรงพิมพ์ของตน โดยการไปดูงานการแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางการพิมพ์อยู่เสมอๆ ดังเช่นการไปดูงานแสดงสินค้าพรีเมียม Gifts and Premium Fair และ Printing and Packaging Fair ที่ฮ่องกง ทำให้คุณเมธีได้ไปค้นพบวัสดุพิมพ์แบบใหม่ เป็นผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ 2 ชนิด ชนิดหนึ่งสำหรับพิมพ์ด้วยระบบดิจิตอล อีกชนิดหนึ่งใช้กับการพิมพ์ระบบออฟเซ็ต ซึ่งผ้าทั้งสองชนิดนี้เอง ที่ทำให้ผลงานสร้างสรรค์ของคุณเมธี สามารถคว้ารางวัลสำคัญทั้ง รางวัล Gold Awards และรางวัล Best in Creative Used of Digital Technology จากเวทีประกวด Thai Print Awards ประจำปี 2015 มาเป็นขวัญเป็นกำลังใจแก่ชาวคณะเบสิค เกียร์ ซึ่งเป็นเจ้าเดียวที่พิมพ์ระบบออฟเซตและดิจิตอลบนผ้าได้  และจากการไปชมงานดรูป้า 2016 ก็ได้สัมผัสเทคโนโลยีการพิมพ์ใหม่ ได้ไอเดียมาปรับใช้เครื่องพิมพ์ต่างๆที่มีอยู่ ผสมผสาน การพิมพ์ระบบดิจิตอลแบบโทนเนอร์กับดิจิตอลอิงค์เจ็ท พัฒนารูปแบบงานพิมพ์ใหม่

 

 นอกเหนือจากการใช้กลยุทธต่างๆดังที่กล่าวมาแล้ว คุณเมธียังให้ข้อคิดปิดท้ายรายการอีกว่า “การแสวงหาหรือการจับมือเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันทั้งในอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมอื่นๆเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก  ใครมีจุดเด่นอะไร มีความสามารถ มีความชำนาญด้านไหน ก็ควรนำมาช่วยเสริมกัน  ผมมองว่าเราน่าจะเปลี่ยนแนวคิด จากการแข่งขันกัน ตัดราคากัน เราน่าจะมาร่วมมือกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  อย่างที่ผมเป็นพันธมิตรกับพี่ๆเพื่อนๆซึ่งทำโรงพิมพ์ และโรงงานผลิตของขวัญของชำร่วยอื่นๆ ได้ร่วมกันพัฒนาสินค้า และสร้างตลาดร่วมกัน โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิตอลมาช่วยเพิ่มทั้งมูลค่าและคุณค่าทางจิตใจ ให้ผลิตภัณฑ์ของเขาได้เป็นอย่างดี  เป็นต้น คิดว่าแนวคิดนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่จะทำให้ธุรกิจการพิมพ์ของพวกเราอยู่รอดได้นะครับ” คุณเมธีกล่าวสรุปทิ้งท้ายให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้นำไปขบคิดกันต่อไป 

 

 

back