มีข่าวดี มาบอก

30 มิถุนายน 2560 | 14:56 น.

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2560 สถาบันวิศวกรรมการพิมพ์ มหาวิทยาลัยสยาม ได้เรียนเชิญผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์ จากบริษัท โรงพิมพ์ หนังสือพิมพ์ และ ข่าวสาร “ในวงการพิมพ์” รวม 11 บริษัท เข้าร่วมการประชุมกับผู้บริหารและคณาจารย์ของสถาบันฯ เพื่อรับฟังและให้คำแนะนำ/ความคิดเห็นของภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมการพิมพ์และเครื่องจักรอัตโนมัติ ที่ทางสถาบันฯได้จัดทำขึ้นสำหรับปีการศึกษา 2560 เพื่อเป็นแนวทางให้ทางสถาบันฯ สามารถผลิตบัณฑิตวิศวกร/บุคลากรทางการพิมพ์รุ่นใหม่ที่ทันสมัย ทำงานได้จริง เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสอดรับกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของทางภาครัฐ ที่ปรารถนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพิมพ์แห่งอาเซียน

หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมการพิมพ์และเครื่องจักรอัตโนมัติ (หลักสูตรต่อเนื่อง) นี้ เป็นหลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพหรือสายปฏิบัติ ระบบทวิภาคี/สหกิจศึกษา เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ โดยรับสมัครผู้ที่เรียนจบระดับปวส. สายอุตสาหกรรมที่รักงานช่างทุกสาขา ไม่จำกัดอายุ ใช้เวลาเรียน 2 ปี

สำหรับผู้ที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการทางการพิมพ์อยู่แล้ว แต่ไม่มีวุฒิการศึกษาใดๆ ต้องการศึกษาหาความรู้ทางวิชาการพิมพ์เพื่อเพิ่มพูนคุณวุฒิของตนก็สามารถทำได้ โดยติดต่อผ่านสถาบันวิศวกรรมการพิมพ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ให้เป็นสถานที่ทำการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาอุตสาหกรรมการพิมพ์ สาขางานการพิมพ์ ลองติดต่อสอบถามดูนะคะ

ข่าวสาร “ในวงการพิมพ์” ขอแสดงความชื่นชมต่อท่าน ดร.พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมการพิมพ์ มหาวิทยาลัยสยาม ที่ไม่เคยย่อท้อต่อการสร้างบุคคลากร/วิศวกรทางการพิมพ์มาตลอดระยะเวลานานเกือบ 20 ปี ท่านมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาการพิมพ์ให้ทันยุคทันสมัย ทันความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมาตลอด และท่านมีความมั่นใจมากว่า หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมการพิมพ์และเครื่องจักรอัตโนมัติ (หลักสูตรต่อเนื่อง) ซึ่งเป็นหลักสูตรล่าสุดนี้ จะสามารถผลิตบุคคลากรทางการพิมพ์/วิศวกรการพิมพ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานและมีคุณสมบัติตรงตามที่ท่าน ผศ.สราวุฎฐ์ วรสุมันต์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ วาดหวังไว้ให้เป็นบัณฑิตที่ “จบไป ทำงานได้เลย” เพราะบัณฑิตที่จบจากสาขานี้ เป็นบัณฑิตที่ ดร.พงษ์ศักดิ์ ได้มุ่งมั่นปั้นให้เป็นวิศวกร/บุคลากรระดับหัวหน้างาน สามารถใช้ (เครื่องเป็น) ซ่อม/สร้าง/ติดตั้ง (เครื่องจักร) ได้ สอน (วิธีการใช้เครื่องและอื่นๆ) ได้ หรือจะขาย (เครื่องและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ) ก็ได้

นอกเหนือจากความรอบรู้ในเรื่องของเครื่องจักรกลแล้ว บัณฑิตในหลักสูตรนี้ยังมีระเบียบ วินัย สามารถแก้ไขปัญหาได้ และมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษในระดับที่ใช้งานได้ดี ตามแบบที่ฝ่ายผู้ประกอบการได้เสนอแนะ นับเป็นบุคลากร แบบ ออล อิน วัน เลยค่ะ

ที่สำคัญ หลักสูตรนี้จะเริ่มในปีการศึกษาหน้า 2560 และจะเปิดรับสมัครเพียง 50 คน เท่านั้นค่ะ ต้องรีบสมัครด่วนเลยนะคะ

back